สำนักงานประกันสังคมจังหวัดกาญจนบุรี
http://www.oocities.org/ssokanchanaburi
แนะนำสำนักงาน
กองทุนเงินทดแทน
กองทุนประกันสังคม 1. กองทุนเงินทดแทนคืออะไร
2. ใครเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบและผู้ได้รับประโยชน์
3. เงินสมทบคืออะไร
4. นายจ้างในกิจการใดบ้าง มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ
5. กำหนดเวลายื่นแบบขึ้นทะเบียน
6. สถานที่ยื่นแบบขึ้นทะเบียน
7. เอกสารอะไรบ้างที่ต้องนำมาในวันยื่นแบบ
8. ใครจะเป็นผู้ยื่นแบบขึ้นทะเบียน
9. หากนายจ้างมีสำนักงานหลายสาขาจะยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่ไหน
10. เมื่อนายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับอะไรเป็นหลักฐาน
11. นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบประจำปีเมื่อใด
12. หากไม่นำส่งเงินสมทบ หรือส่งไม่ครบจะทำอย่างไร
13. เมื่อใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง
14. การประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างหมายความว่าอย่างไร
15. การเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานหมายความว่าอย่างไร
16. สูญหาย หมายความว่าอย่างไร
17. เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็ยป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับอะไรบ้าง
18. ค่ารักษาพยาบาลได้แก่อะไร
19. กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
20. กรณีสูญเสียอวัยวะจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
21. กรณีทุพลภาพจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
22. กรณีถึงแก่ความตาย หรือสูญหายจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
23. ค่าทดแทนจะได้รับเมื่อไรและจำนวนเท่าใด
24. ถ้าลูกจ้างตาย หรือสูญหายใครเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
25. นายจ้างต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย
26. การแจ้งการประสบอันตรายทำโดยวิธีใดบ้าง
27. ลูกจ้างจะเข้ารับการรักษาที่ใดได้บ้าง
28. จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้อย่างไร
29. เมื่อมารับเงินใช้หลักฐานอะไรบ้าง
30. กิจการที่กฎหมายยกเว้น
ข้อมูลสำหรับนายจ้าง
ข้อมูลสำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน
ประกันการว่างงาน
ประกันตนเอง (มาตรา 39)
ลิงค์
หน้าแรก

 ร้องเรียน ร้องทุกข์
ข้อเสนอแนะ สอบถามปัญหา
 
1. กองทุนเงินทดแทนคืออะไร
กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญหายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง
2. ใครเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบและผู้ได้รับประโยชน์
นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพียงฝ่ายเดียว เพียงปีละ 1 ครั้ง มีลักษณะเหมือนเบี้ยประกัน และเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างแล้วเกิดประสบอันตราย ลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งประกอบด้วยค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานและค่าทำศพ
3. เงินสมทบคืออะไร
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้างสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะทำการเรียกเก็บจากนายจ้างเป็นรายปี โดยแจ้งจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ทราบตามใบแจ้งเงินสมทบ เงินสมทบนี้จะคิดจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน คูณด้วยอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการนั้น โดยนายจ้างแต่ละประเภทจะจ่ายในอัตราเงินสมทบหลักที่ไม่เท่ากันระหว่างอัตรา 0.2%-1.0% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเสี่ยงภัยตามลักษณะงานของกิจการนายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบตามอัตราหลัก 4 ปีติดต่อกันและในปีที่ 5 เป็นต้นไป จะมีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสียเพื่อลดหรือเพิ่มอัตราเงินสมทบให้นายจ้าง
4. นายจ้างในกิจการใดบ้าง มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ
นายจ้างในทุกประเภทกิจการและทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เว้นแต่ กิจการที่กฎหมายยกเว้น
5. กำหนดเวลายื่นแบบขึ้นทะเบียน
นายจ้างจะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน
6. สถานที่ยื่นแบบขึ้นทะเบียน
กำหนดให้นายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ ณ ท้องที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่
ในเขตต่างจังหวัด ยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด
7. เอกสารอะไรบ้างที่ต้องนำมาในวันยื่นแบบ
กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล
1. แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01)
2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์
3. สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) หรือสำเนาภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20) หรือสำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
4. แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ
5. หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)
กรณีเจ้าของคนเดียว
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (คนต่างด้าวใช้สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)
2. สำเนาใบทะเบียนบ้าน
3. สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์หรือสำเนาใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ออกโดยกฎหมายอื่น ซึ่งระบุชื่อที่อยู่ชัดเจน
4. สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรหรือสำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20) หรือสำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
5. แผนที่ตั้งของสถานประกอบการ
6. หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)
8. ใครจะเป็นผู้ยื่นแบบขึ้นทะเบียน
นายจ้างจะมายื่นแบบขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาทำการแทนได้ โดยทำหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
9. หากนายจ้างมีสำนักงานหลายสาขาจะยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่ไหน
นายจ้างที่มีสำนักงานสาขา หรือมีลูกจ้างทำงานในหลายจังหวัด จะต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียน และจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน รวมกันเพียงแห่งเดียว ณ เขตท้องที่ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ โดยแจ้งรายละอียดสถานที่ตั้งและจำนวนลูกจ้างรวมของสาขาไว้ด้วย
10. เมื่อนายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับอะไรเป็นหลักฐาน
1. เลขที่บัญชี ซึ่งเป็นเลขเดียวกับกองทุนประกันสังคมเพื่อใช้อ้างอิงในการติดต่อ
2. ใบแจ้งเงินสมทบ เพื่อแจ้งให้นายจ้างทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุนพร้อมทั้งกำหนดวันที่นายจ้างจะต้องนำเงินมาจ่าย
3. หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียน
11. นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบประจำปีเมื่อใด
กองทุนเงินทดแทนจะเรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเป็นรายปี (ปีละ 1 ครั้ง) โดยในปีแรกนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน สำหรับปีต่อ ๆ ไปจ่ายภายในเดือนมกราคมของทุกปี เงินสมทบที่เรียกเก็บเมื่อต้นปีนั้น คิดมาจากจำนวนเงินค่าจ้างที่ได้ประมาณการไว้ล่วงหน้าซึ่งอาจไม่เท่ากับค่าจ้างจริงที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากในระหว่างปี นายจ้างอาจมีการเพิ่มหรือลดจำนวนลูกจ้าง ปรับอัตราค่าจ้าง เป็นต้น ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจึงให้นายจ้างแจ้งจำนวนค่าจ้างรวมทั้งปีของปีที่ผ่านมา มายังสำนักงานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบกับเงินสมทบที่เก็บไว้เมื่อต้นปี หากเงินสมทบที่เก็บไว้เดิมน้อยกว่า ก็จะเรียกเก็บเพิ่ม ภายใน 31 มีนาคม หากจำนวนเงินค่าจ้างรวมทั้งปีต่ำกว่าเดิมนายจ้างจะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินไว้คืนไป
12. หากไม่นำส่งเงินสมทบ หรือส่งไม่ครบจะทำอย่างไร
นายจ้างผู้ใดไม่จ่ายเงินสมทบภายในกำหนดเวลาหรือจ่ายเงินสมทบไม่ครบจำนวน ต้องเสียเงินเพิ่มอีก 3 % ต่อเดือนของเงินสมทบที่ต้องจ่าย
13. เมื่อใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง
สิทธิจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียน ภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
14. การประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างหมายความว่าอย่างไร
การที่ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือมีผลกระทบแก่จิตใจ หรือทุพพลภาพ หรือตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง
15. การเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานหมายความว่าอย่างไร
การที่ลูกจ้างป่วยด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะ หรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน
16. สูญหาย หมายความว่าอย่างไร
การที่ลูกจ้างสูญหายไปในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติงานตามคำสั่งของนายจ้าง รวมตลอดถึงหายไป ในระหว่างการเดินทางโดยพาหนะทางบก ทางอากาศหรือทางน้ำ ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่า พาหนะนั้นประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างตาย ทั้งนี้ต้องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน
17. เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็ยป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับอะไรบ้าง
ได้รับเงินทดแทน ซึ่งประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ
18. ค่ารักษาพยาบาลได้แก่อะไร
ได้แก่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกิน 35,000 บาท ต่อการเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย 1 ครั้ง หากเกินกว่า 35,000 บาท ให้เบิกเพิ่มตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อีกไม่เกิน 50,000 บาท
19. กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ได้รับค่ารักษาพยาบาล และค่าทดแทนจำนวน 60% ของค่าจ้างรายเดือน หากต้องหยุดพักรักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ปี
20. กรณีสูญเสียอวัยวะจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน จำนวน 60% ของค่าจ้างรายเดือนในการหยุดพักรักษาตัว และค่าทดแทน 60% ของค่าจ้างรายเดือนในการสูญเสียอวัยวะไม่เกิน 10 ปี กรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู จะได้รับค่าฟื้นฟูดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูด้านการแพทย์และอาชีพเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 20,000 บาท
2. ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 20,000 บาท
21. กรณีทุพลภาพจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน จำนวน 60 % ของค่าจ้างรายเดือนในการหยุดพักรักษาตัว และค่าทดแทน 60% ของค่าจ้างรายเดือน กรณีทุพพลภาพ เป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี
22. กรณีถึงแก่ความตาย หรือสูญหายจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ได้รับค่าทำศพเป็นเงิน 100 เท่า ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันและค่าทดแทน 60% ของค่าจ้างรายเดือน เป็นเวลา 8 ปี
23. ค่าทดแทนจะได้รับเมื่อไรและจำนวนเท่าใด
เมื่อมีการหยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย จะได้รับในอัตรา 60% ของค่าจ้างรายเดือน ไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท และไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน
24. ถ้าลูกจ้างตาย หรือสูญหายใครเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
1. บิดา มารดา
2. สามี/ภรรยา
3. บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
4. บุตรที่ทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ และอยู่ในความอุปการะของลูกจ้าง
5. หากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้นให้ผู้อยู่ในความอุปการะของลูกจ้างเป็นผู้มีสิทธิ
 
25. นายจ้างต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย
จัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบ ลูกจ้างสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลใดก็ได้โดยทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน หรือใช้แบบ กท.44 ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษา หากโรงพยาบาลนั้นเป็นโรงพยาบาลในความตกลงกับกองทุนเงินทดแทน
26. การแจ้งการประสบอันตรายทำโดยวิธีใดบ้าง
แจ้งตามแบบ กท.16 โดยนายจ้างหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ และจะต้องแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบ
27. ลูกจ้างจะเข้ารับการรักษาที่ใดได้บ้าง
สถานพยาบาลทุกแห่งที่มีแพทย์แผนปัจจุบัน ชั้น 1 เป็นผู้ทำการรักษา
28. จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้อย่างไร
ให้นำใบเสร็จรับเงินมาเบิกคืนได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่จ่าย แต่ถ้าทำการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับกองทุน สถานพยาบาลนั้นจะเรียกเก็บเงินจากกองทุนโดยตรง
29. เมื่อมารับเงินใช้หลักฐานอะไรบ้าง
บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ ซึ่งมีรูปถ่ายด้วย หากไม่ได้มารับด้วยตนเองจะต้องมีใบมอบฉันทะพร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบมาแสดงด้วย
30. กิจการที่กฎหมายยกเว้น
1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
2. รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
3. นายจ้างซึ่งประกอบธุรกิจโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับครูหรือครูใหญ่
4. นายจ้างซึ่งดำเนินกิจการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
5. นายจ้างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
หากเป็นนายจ้างของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน เช่น ลูกเรือประมง หรือเป็นลูกจ้างของร้านค้าหาบเร่ แผงลอย(ที่ไม่มีเลขที่) เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทน เพื่อออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามสิทธิ

ขึ้นข้างบน

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดกาญจนบุรี
2/1 หมู่ 12 ถนนแม่น้ำแม่กลอง ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 71000
โทร. 0-3456-4307 โ ทรสาร 0-3456-4038